เรื่องราวของชาวแก๊งม่วงกลับมาอีกครั้ง ในครั้งนี้มันจะรั่วขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ ขอเชิญพบกับ รีวิว Saints Row
Story (8)
คุณกับกลุ่มเพื่อน ๆ มนุษย์เงินเดือนสามคน ประกอบไปด้วย Neenah, Kevin และ Eli อาศัยอยู่ใน Santo Ileso เมืองสมมติสุดเถื่อนฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ คุณทั้งสี่ทำงานแยกกันคนละส่วน อยู่คนละแก๊ง รับเงินเดือนแยกกัน คุณทำงานให้กับ Marshall บริษัทรักษาความปลอดภัยของเอกชน Neenah ทำงานให้กับแก๊ง Los Panteros มาเฟียมอเตอร์ท้องถิ่น ส่วน Kevin และ Eli ทำงานให้กับแก๊งอาชญากร The Idols
แต่วันหนึ่ง ในขณะที่ทุกคนกำลังทำงาน เหตุการณ์บางอย่างก็เกิดขึ้น ทำให้ทั้งสามแก๊งที่คุมอำนาจทั้งเมืองถล่มกันเอง และเมื่อเพื่อนทุกคนอยู่คนละฝั่งกันหมด งานนี้พวกเขาเลยแยกตัวออกมา รวมตัวกันเองเพื่อยึดความเป็นหนึ่งในเมืองนี้ไว้ ในฐานะแก๊งใหม่ นามว่า Saints
บอกก่อนใครที่คิดว่าเอ้ ภาคนี้มันจะเป็นรีบูทแบบหลอก ๆ เหมือนเกม หรือภาพยนตร์ก่อนหน้านี้หรือเปล่า ที่จะชอบโยงจุดใดจุดหนึ่งเข้าหาภาคก่อนหน้าจนได้ ถ้าใครคิดแบบนั้น บอกเลยครับว่ามันไม่ใช่ นี่คือการรีบูทจริง ๆ พูดได้ว่าตั้งแต่รากฐานของตัวเกมเลยก็ได้ ถ้าคุณเคยสัมผัสไตรภาค 1-3 และ 4 มาก่อน จะรู้สึกว่ามันอิรุงตุงนังมาก ภาค 1-2 ซีเรียส ภาค 3 มาฮา แต่ภาค 4 มาหลุดโลกเลย การรีบูทครั้งนี้ก็เหมือนทำให้มันเข้าที่เข้าทางมากขึ้น เอาเสน่ห์ของแต่ละภาคมาใส่ทีละเล็กทีละน้อย ตู้ม กลายเป็นภาคนี้ที่เราได้เล่นกัน
และเนื่องด้วยสถานการณ์โลกปัจจุบัน Saints Row มันเล่นอะไรแบบภาค 3 ไม่ได้อีกแล้ว แบบล้อคนนั้นทีคนนี้ทีโดยใช้สิ่งที่ไม่ควรล้อมาเป็นประเด็น ทำให้ภาคนี้ประเด็นมันอาจจะดูซอฟต์ลงไปบ้าง เพราะเขาหลีกเลี่ยงไม่ให้กระทบไปถึงผู้เล่นทุกกลุ่มที่เล่นเกมนี้อยู่ แต่เขาก็เพิ่มความทันสมัยเข้ามาแทน ทำให้เราพอจับต้องประเด็นได้ และอินกับสถานการณ์ขึ้น
แต่ถามว่ามันตลกเท่าสมัยภาค 3 หรือเปล่า อันนี้อาจจะต้องแยกเป็นกรณีไป อย่างผมทำงานเกี่ยวกับเกม คลุกคลีอยู่กับ Pop Culture มันมีบางอย่างเหมือนกันที่เรารู้สึกว่า คนอื่นอาจจะไม่เข้าใจแน่นอน แต่เราเข้าใจ เราฮา ตรงนี้ก็ต้องลองวัดลองเล่นกันเองว่ามันให้ความบันเทิงได้มากขนาดไหน แต่ถ้าคุณเข้าใจเทคโนโลยีปัจจุบัน อย่างเช่น NFT คริปโต หรือพวกแอปพลิเคชันรีวิวแล้วล่ะก็ น่าจะขำได้ไม่ยาก
แต่เหนือสิ่งอื่นใด ผมไม่อยากให้คาดหวังกับเนื้อเรื่องของ Saints Row มากเท่าไหร่ เพราะเนื้อหามันยังใกล้เคียงกับภาค 3 คือไม่ได้หวังเป็น Long shot ที่ปูยาวนานขนาดนั้น แต่หวังขายตลกหลังตลาด 10 นาทีต่อมุกมากกว่า ถ้าคุณคาดหวังอะไรที่มันต่อเนื่อง ปูยาว จบโหด ใจสลายอะไรเทือกนั้น ก็น่าจะต้องผิดหวัง แต่ผมว่าคงไม่มีหรอกมั้ง คนที่คาดหวังให้ Saints Row มันมีอะไร ทั้งที่ชื่อมันก็บอกยี่ห้ออยู่แล้วว่าต้องไร้สาระแน่นอน ฉะนั้นสิ่งที่ควรคาดหวัง คือคาดหวังให้เกมมันทำหน้าที่ของตัวมันเองดีกว่า ซึ่งสำหรับผมก็อย่างที่บอก แค่มันทำให้ผมขำได้ ก็ถือว่า Saints Row ทำหน้าที่ของตัวเองแล้ว ในส่วนของคุณก็ต้องไปลุ้นเอานะครับว่า มันจะคุ้มค่าหรือเปล่า กับราคาที่จ่ายไป
Presentation (7)
ย้ายจากอะไรเหล็ก ๆ อะไรน้ำ ๆ มาสู่เมืองใหม่ในเม็กซิโกอย่าง Santo Ileso ถือเป็นก้าวที่ดีในการเปลี่ยนภาพจำของ Saints Row ที่แต่เดิมมันคือเกมในย่านธุรกิจ หันไปไหนมาไหนก็เจอแต่ตึกระฟ้า กลายเป็นว่าครั้งนี้ หันไปไหนมาไหนก็เจอแต่ทะเลทราย และย่านเสื่อมโทรม ให้ฟีลของการ Hustle มากขึ้นกว่าเก่าก่อน
แผนที่ภาคนี้ถือว่าไม่ใหญ่เท่าไหร่ ถ้าคุณผ่านเกมภาคก่อนหน้ามาแล้ว คุณจะรู้สึกว่าเกมภาคนี้แผนที่เล็กที่สุดด้วยซ้ำ นั่นเป็นเพราะแผนที่ถูกแบ่งออกเป็นสองแบบ คือเมืองชั้นใน กับพื้นที่โล่งแบบออฟโรดด้านนอก เมืองจะเป็นศูนย์รวม Activity ต่าง ๆ ทั้งภารกิจ งานเสริม ร้านค้า ส่วนพื้นที่แบบออฟโรดเป็นพื้นที่ว่าง ๆ ที่ผมไม่รู้ว่าเขามีไปทำไมเหมือนกัน
ถ้าให้พูดตรง ๆ นี่คือตัวการที่ทำให้เรารู้สึกว่า แผนที่มันลดลง เพราะในการเล่นจริง คุณจะได้ออกไปทำธุระในโซนนั้นน้อยครั้งมาก มันเหมือนมีไว้ให้เรารู้สึกว่ามันเป็นเมืองที่สมจริงมากกว่า คือในเมืองมันจะเป็นแหล่งเศรษฐกิจ ชานเมืองก็เป็นที่อยู่อาศัย คล้ายแผนที่ในชีวิตจริง
แต่อย่าลืมว่า Saints Row มันเป็นเกม และมันไม่ได้มีเหตุผลอะไรแต่แรกให้ดีไซน์มาแบบนั้น เหตุผลจริง ๆ คือเขาต้องการใช้ดีไซน์ใหม่ นั่นก็คือ Criminal Venture ระบบการยึดพื้นที่เศรษฐกิจให้มาเป็นของแก๊ง ถ้าใครจำได้ภาคก่อน ๆ เราสามารถซื้อร้านค้า ซื้อตึกตามย่านต่าง ๆ เพื่อขยายพื้นที่ เก็บส่วนต่างกลายเป็น Passive Income เข้ามาโดยที่เราไม่ต้องทำอะไร ในภาคนี้เขาขยายให้มันลึกขึ้นกว่าเดิม ด้วยการยึดตรรกะตามจริงว่า การจะทำธุรกิจอะไรให้เป็นไปได้โดยดี คุณจะต้องบริหารและจัดการเบื้องต้นด้วยตัวเองเสียก่อน
คุณจะได้เลือกประเภทธุรกิจ ตำแหน่งที่ตั้ง ด้วยตัวคุณเอง โดยแต่ละธุรกิจก็จะมีภารกิจต่างกันออกไป หลัก ๆ คือทำเพื่อให้มี Passive Income เพิ่มขึ้น แน่นอนว่าฉากหน้าของธุรกิจพวกนี้จะเป็นธุรกิจสายขาวปกติ เช่น โรงงานกำจัดขยะเคมี ร้านซักรีด ฟู๊ดทรัก แต่จริง ๆ แล้วมันมีธุรกิจสายมืดปะปนอยู่เบื้องหลังตามสไตล์เกมแนวแก๊ง ๆ แบบนี้ เช่น ร้านซักรีดที่จริง ๆ แล้วมีไว้เพื่อเคลียร์ Crime Scene ให้ลูกค้า หรือฟู๊ดทรักที่แฝงยาเสพติดไปส่งด้วย
ตรงนี้ผมว่าเป็นอะไรที่ออกแบบมาได้ดี และสนุก คือแต่ละสถานที่มันจะมี Backstory และเนื้อหาที่แตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่างเช่นร้านฟาสต์ฟู๊ด ที่เราจะต้องชิงความเป็นหนึ่งในด้านยอดขาย จากร้านอื่น ๆ ที่อยู่ในละแวกนั้น ถ้าเป็นคนปกติ ในสถานการณ์ปกติ วิธีที่จะเอาชนะด้านยอดขายได้ ก็น่าจะเป็นการวางกลยุทธ์ทางการตลาดที่ดี เพื่อแย่งลูกค้ามาจากร้านอื่น ๆ แต่สำหรับ Saints Row คุณจะไม่ได้ทำแบบนั้น เพราะเกมมันจะให้คุณแก้ปัญหาด้วยกระสุน โดนแย่งลูกค้าใช่ไหม ไม่เป็นไร ไปยิงมัน เดี๋ยวลูกค้าก็กลับมากินร้านเราเอง เอาจริง ๆ คือมันบันเทิงดี กับวิธีแก้ปัญหาแบบขวานผ่าซากที่เกมมันคิดมาให้เรา
นอกเหนือจาก Criminal Venture ก็ยังมี Activity อย่าง Side Job ให้เล่น แต่ไม่ได้มากมายเหมือนภาคก่อนหน้า ถ้าคุณยังจำได้ ในภาค 3-4 มันจะมีมินิเกมเต็มไปหมด ในภาคนี้มันจะมีแค่แบบหนึ่งถึงสองอย่างเท่านั้นในแต่ละโซน บางอันก็สนุก บางอันก็ไม่สนุก อย่าง Riding Shotgun นี่ผมเห็นตอนแรกอย่างเท่เลย การที่ขึ้นไปอยู่บนกระโปรงรถแล้วยิงตำรวจที่กำลังไล่ล่าเรา เป็นอะไรที่เจ๋งอย่างบอกไม่ถูก แต่พอเล่นจริง ๆ แล้วก็ไม่เอาดีกว่า คือมันดีไซน์มาแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ แถมยังยากโดยใช่เหตุ
อันที่ผมชอบจริง ๆ คือภารกิจที่ให้เราไปรีวิวร้านอาหาร หน้าที่ของเราคือเดินไปร้านเป้าหมาย เสร็จแล้วจะรีวิวยังไงก็ได้ แต่ขอให้ต่ำกว่า 5 ดาวเป็นอย่างน้อย ยิ่งต่ำเท่าไหร่เราจะยิ่งด่าร้านแรงมากเท่านั้น และเมื่อเราด่าเสร็จแล้ว ร้านก็จะส่งพวกมาเฟียที่ดูแลย่านแถวนั้น มาไล่เก็บเรา ซึ่งผมว่ามันเป็นดีไซน์ที่ฮา แถมเข้ากับยุคปัจจุบันมาก ประมาณว่าในโลกจริงคุณโพสต์รีวิวปลอม ๆ โจมตีใครก็ได้ ไม่เป็นไร ไม่มีใครมาตามล่าคุณ แต่ใน Saints Row คุณทำแล้วคุณต้องรอรับผลกรรม คือปากดีได้ แต่ก็ต้องพร้อมบวกด้วย
กลับมาพูดถึงภารกิจหลักกันบ้าง ภารกิจหลักในเกมนี้จะแบ่งออกเป็นสามแบบ คือ ภารกิจเนื้อเรื่อง ภารกิจเพื่อเพื่อน และภารกิจเพื่อแก๊ง คือจริง ๆ เกมมันก็ไม่ได้บอกเราหรอกว่าภารกิจนี้คือแบบไหน แต่ถ้าเล่น ๆ ไปจะรู้เองว่ามันเป็นภารกิจอะไร
ดีไซน์โดยรวมของภารกิจหลักของทุกภารกิจจะคล้ายกัน คือรับภารกิจจากคนใกล้ตัว ไปลุย และจบภารกิจ ซึ่ง Saints Row จะออกแบบภารกิจมาแบบหลวม ๆ ไม่ได้มีการเชื่อมต่อถึงกันนักแบบสมัยภาค 3 ที่เน้นเป็นภารกิจแบบจบในตัว อาจจะมีทิ้งเชื้อไว้บ้างแต่ไม่เยอะมาก หลัก ๆ คือเขาอยากให้เราโฟกัสในส่วนที่เขาบอกว่า ให้ลุย นี่ล่ะ
เพราะเขาใช้วิธีดีไซน์ภารกิจในแบบที่แตกต่างจากภาคอื่น ด้วยการยัดสคริปต์มันให้หมดทุกภารกิจ จากเดิมเวลาเราเล่นเกม Open World มันจะมีภารกิจแบบ ขับรถไปที่นั่นที่นี่แล้วยิง ขับรถไปต่ออีกจุดหมายแล้วยิง ไปเรื่อย ๆ แต่ใน Saints Row มันจะไม่เป็นแบบนั้น เขาจะเซ็ตสคริปต์มาให้เลย ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เปิด พื้นที่ปิด มันจะไม่มีแบบเดี๋ยวย้ายไปย้ายมา หรือซิกแซกซ่อกแซ่กอะไรได้
ตรงนี้มันก็มีข้อดีในแง่ Impression เพราะแต่ละฉากมันต่างกันอย่างชัดเจน คุณจะได้ฟีลแบบเล่นเกมเลียนแบบหนังแอคชันหลาย ๆ เรื่อง บางฉากออกแบบมาอย่างใหญ่โตเพื่อดึงอารมณ์ความสนุกออกมาให้ผู้เล่นอย่างสุดขีด ซึ่งตรงนี้เขาก็ทำได้ตามมาตรฐาน คือมันสนุก มันรู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ อย่างที่เขาอยากให้เป็น
แต่สิ่งที่ผมรู้สึกเสียดาย คือเนื้อเรื่องมันสั้นมาก ผมจำไม่ได้ว่าเล่นไปนานเท่าไหร่ แต่จำได้แม่นว่าใช้เวลาสองวัน และไม่ได้นั่งเล่นตลอดด้วย นั่งเล่นแค่วันละไม่ถึง 4 ชั่วโมง ผมสามารถจบเกมนี้ได้ แม้จะเอาเวลาส่วนหนึ่งไปเล่น Criminal Venture ไปได้ตั้งครึ่งหนึ่ง แปลว่าภารกิจหลักในเกมนี้มันไม่ได้มีเยอะอย่างที่คิด แถมภารกิจหนึ่งเล่นได้ไม่เกิน 20 นาทีเท่านั้น ทำให้ภาคนี้น่าจะเป็นภาคที่ภารกิจหลัก สั้นที่สุดแล้ว เมื่อเทียบกับเกมภาคก่อน ๆ
Gameplay (6)
เห็นชาวบ้านฮิตความเป็น RPG กันซะเยอะในยุคนี้ ตอนแรกที่ดูตัวอย่าง เราก็แอบหวั่น ๆ ใจนิดหน่อยว่าภาคนี้มันจะเป็น RPG หรือเปล่า เห็นศัตรูมีหลายชนิด มีหลอดเลือดให้เห็น ก็เลยคิดไปว่าต้องใช่อย่างแน่นอน
เมื่อมาลองเล่นดูจริง ๆ Saints Row ในภาคนี้มีระบบอัพเกรดตัวละคร แต่มันไม่ใช่ RPG อย่างที่เราคิด ถ้าใครจำได้ ในภาคก่อนหน้ามันก็มีระบบอัพเกรด ที่เป็นการใช้เงินอัดเข้าไปเพื่อเพิ่มความสามารถของตัวละคร ให้เหนือมนุษย์ขึ้นเรื่อย ๆ แต่ในภาคนี้เขาไม่ทำแบบนั้น เขาแยกความแข็งแกร่งของตัวละครออกมาเป็น Perk และ Skill ซึ่งสองสิ่งนี้จะแยกกัน
Skill แบ่งออกเป็นสองแบบ คือ Active กับ Passive โดยทั้งสองแบบจะได้มาฟรี ๆ จากการที่เรา Level Up ทุกครั้ง สกิลแบบ Active เป็นสกิลแบบกดใช้ เราสามารถนำไปใส่ Hotkey และใช้งานมันได้ตามสถานการณ์ ส่วนใหญ่จะเป็นสกิลประเภทเหนือมนุษย์ เน้นฮา อะไรก็ว่ากันไป ส่วน Passive ก็จะเป็นเรื่องง่าย ๆ เช่น การเพิ่มเลือด และเกจท่าไม้ตายที่เอาไว้ให้สกิล Active
ส่วน Perk เป็นเสมือนของใหม่ในภาคนี้ เพราะมันไม่มีในภาคก่อน ๆ หน้าที่ของมันคือเสริมคุณลักษณะพิเศษแบบ Passive ให้กับตัวละคร เช่น คุณยิงแบบ Hip Fire แม่นขึ้น ดูดเงินและกระสุนเข้าหาตัว เป็นต้น หลัก ๆ แล้วจะทำให้เกมเพลย์เปลี่ยนไป โดยเราใส่ Perk ได้ถึง 5 อย่าง แต่วิธีการปลดล็อคจะค่อนข้างยาก คือจะต้องทำ Challenge ต่าง ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับภารกิจหลักให้เสร็จตามจำนวนที่ Perk นั้น ๆ กำหนดไว้ แถมยังต้องใช้เงินเพื่อปลดล็อคช่องใส่อีก คุณถึงจะสามารถใช้งานมันได้
รวม ๆ แล้วถือว่าเป็นของใหม่ใน Saints Row ที่น่าสนใจ แต่ถ้าใครเล่นภาคเก่ามาก่อน จะรู้ว่า The Boss ของเราโดนเนิร์ฟค่อนข้างแรงอยู่เหมือนกัน เพราะก่อนหน้านี้เราอัพเกรดตัวละครได้แทบทุกด้าน แต่ในภาคนี้เหมือนจะถูกจำกัดไว้แค่ 5 ช่องเท่านั้น ดีไซน์นี้ทำให้ผมนึกถึง Agent Mayhem เกม Spin-off จากซีรีส์นี้ล่ะ แต่ขายไม่ดีเขาเลยไม่ทำต่อ
สิ่งที่ทำให้ผมนึกถึง Agent Mayhem นอกจาก Perk แล้ว ระบบต่อสู้โดยรวมของภาคนี้ มันแทบจะยกจาก Agent Mayhem มาเลย คือเป็นมุมมอง Third Person แบบหัวไหล่ มี FoV ที่ไม่กว้างแบบสมัยภาค 3-4 มีการกดท่า Finisher ที่คล้าย Ultimate Skill มาก เหมือนเขาภูมิใจกับดีไซน์แบบนี้ เอาจริง ๆ ในด้านความแตกต่าง มันถือว่าเป็นดีไซน์ที่แตกต่างจากเกม Open World สไตล์แก๊ง ๆ เกมอื่นอยู่พอสมควร คือเขาพยายามจะชี้ให้เห็นว่า นี่เป็นดีไซน์การต่อสู้ที่ซีเรียสมากกว่าเดิมนะ เพราะต้องมีแทคติกในการเล่น มีชนิดของศัตรู ให้เห็นว่าต้องวางแผนมากขึ้นกว่าเกมภาคก่อนหน้า แต่เท่าที่ผมเล่น ผมก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันต้องวางแผนอะไรขนาดนั้น ศัตรูมีหลายชนิดจริง มีกลไกพวกโล่ พวกอะไรแบบนี้จริง แต่มันก็ไม่ได้เป็นลักษณะของค้อนกรรไกรกระดาษ คือเราไม่จำเป็นต้องหาวิธีแก้เลย เอาปืนยิงให้ตายมันก็จบ ยกเว้นแค่ไอ้ตัวควงกระบองของ The Idols นี่แหละที่น่ารำคาญ ต้องเปลี่ยนเอาปืนยิงระเบิดมาเป่ามัน แต่ก็มีแค่ตัวเดียวนี่แหละที่ต้องกังวล ที่เหลือคือปืนสั้นนัมเบอร์วัน ยิงร่วงหมด
พูดถึงระบบต่อสู้แล้วผมขอบ่นอีกสักนิด สิ่งที่ผมไม่ชอบเลยในเกมนี้คือระบบปืน จากที่เล่าไปก่อนหน้า ในเมื่อศัตรูมันไม่ได้มีจุดอ่อนจุดแข็งที่ชัดเจน หมายความว่าคุณจะใช้ปืนอะไรยิงใครก็ได้ แม้ว่าปืนของเราจะมีหลายชนิด แต่จุดมุ่งหมายเดียวของมันคือสแปมดาเมจใส่ศัตรูให้มันตาย ๆ ไป ซึ่งนี่ไม่ใช่ดีไซน์ที่ดี และผมคิดว่าผู้พัฒนาไม่อยากให้เป็นแบบนี้เหมือนกัน
เพราะดู ๆ แล้วดีไซน์ในภาคนี้ ถ้าให้เวลามันมากกว่านี้หน่อย มันจะกลายเป็นดีไซน์ที่ดีได้ไม่ยาก แค่เพิ่มความหลากหลายของศัตรูให้เด่นชัดขึ้น ตัวโล่ก็ต้องใช้กระสุนเจาะเกราะยิง ตัวธรรมดาก็ใช้กระสุนปกติ ตัวพิเศษก็ให้ใช้กระสุนพลังงานยิง คือมันดูมีความเป็นไปได้ เพราะเกมเขาก็ใส่อาวุธมาหลายชนิด แถมยังมี Trait ที่เกี่ยวกับธาตุไฟฟ้า ธาตุไฟให้ใช้เหมือนภาคก่อน ๆ ด้วย อันนี้เหมือนเขาออกแบบได้แค่ครึ่งทางแล้วทิ้งเลย อาจจะด้วยเรื่องเวลาในการพัฒนาที่ไม่มากพอ มันก็เลยออกมาครึ่ง ๆ กลาง ๆ แบบที่เห็นอยู่นี้
Performance (5)
จริง ๆ ผมแอบกังวลมาตั้งแต่ก่อนเกมวางจำหน่ายแล้วว่า Saints Row จะไม่ออกมาดีเลิศประเสริฐศรี โดยเฉพาะในส่วนของ Performance เพราะในชั่วโมง Q&A ที่เขาไลฟ์สตรีมกันผ่าน Youtube ทีมพัฒนาเขาบอกว่า เกมนี้ใช้ AoM engine ทำ ซึ่งก็หมายความว่า ปัญหาที่เราเจอใน Agent of Mayhem ถ้าเขาไม่แก้ เราก็จะยังได้เจอมันอยู่ในเกมนี้
ผมไม่รู้ว่าคนฟังรู้หรือไม่ Agent of Mayhem เป็นเกมที่นอกจากจะแย่เพราะดีไซน์ที่น่าเบื่อแล้ว บั๊กของเกมเป็นอะไรที่แย่ยิ่งกว่า เพราะมันมาหมดเท่าที่คุณคิดได้ ทั้งบั๊กใหญ่บั๊กเล็ก โดยเฉพาะอะไรที่มันเล็ก ๆ ที่เราคิดว่า มันไม่น่าจะทำให้เกิดบั๊กได้ ไอ้เกมนี้มันทำให้บั๊กได้ คุณลองคิดดูว่าคนจะหงุดหงิดใจขนาดไหนเวลาเจออะไรแบบนี้
และผมก็เจอมันใน Saints Row ใช่ครับ.. ผมไม่อยากพูดแบบนี้เลยจริง ๆ แต่ Saints Row ภาคนี้ คือศูนย์รวมสุดยอดอภิมหาบั๊กที่คุณไม่เคยคิดว่ามันจะมี แต่มันก็มี ทั้งการเข้าหน้าเมนูแล้วออกไม่ได้ แต่งตัวแล้วอยู่ดี ๆ ชุดที่เราไม่ได้ใส่โผล่มายังไงไม่รู้ กดขึ้นรถไม่ได้ ปุ่มไม่โผล่ และอื่น ๆ อีกมากมายที่พร้อมจะทำให้คุณหงุดหงิดได้แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
นี่ยังไม่รวมถึงปัญหาใหญ่ ๆ อย่างเช่นการแทรกของเฟรมภาพจากไหนไม่รู้ ที่แทรกเข้ามาระหว่างเล่นประมาณ 1-2 เฟรม กระพริบเป็นภาพให้เราเห็น การปิดตัวเองของเกมโดยอัตโนมัติที่เกิดขึ้นทุก ๆ 10 นาที ผมพูดได้เลยว่า ปีนี้ ผมไม่เคยเจอเกมไหนบั๊กเยอะเท่าเกมนี้มาก่อน
และไม่ใช่แค่เรื่องบั๊ก เรื่อง Performance ก็น่าบ่น ผมเล่นบน Xbox Series X เครื่องที่น่าจะเล่นบนความละเอียด 2K 60FPS ไหวได้อย่างสบาย แต่ไม่ว่าจะเป็นหมด High Framerate หรือ Quality เฟรมเรทก็ไม่เคยจะถึง 60 แถมภาพ HDR ในเกมก็มัวหมองแบบสุด ๆ จนต้องปิดไปใช้ SDR แบบงง ๆ
สรุป (6.5)
เอาจริง ๆ Saints Row ภาคนี้เป็นเกมที่ผมรู้สึกเสียดาย เพราะเนื้อหามันโอเค เกมเพลย์ใช้ได้ แต่มันให้ความรู้สึกแบบ ไม่สุด อยู่เสมอ คือเรารู้ว่าอันนี้ถ้าทำเพิ่มอีกหน่อยก็ดี อันนั้นถ้าปรับเพิ่มอีกนิดก็เพอร์เฟ็กต์แล้ว แต่เขาก็ไม่ได้ทำ ยิ่งมาบวกกับบั๊กจำนวนมหาศาลแบบที่รับไม่ได้เข้าไปอีก ผมบอกคำเดียวว่า ถ้าไม่แก้ ก็พอกันที