BY Aisoon Srikum
24 Dec 19 3:39 pm

Review : Netflix ‘The Witcher’ ความลงตัวของต้นฉบับนิยายและวิดีโอเกม

17 Views

หลังจากประกาศสร้างกันมาตั้งแต่ปี 2017 ในที่สุดซีรีส์ The Witcher ก็ออกฉายพร้อมกันทั่วโลกแล้วทาง Netflix โดยออกอากาศเป็นซีซั่นความยาว 8 ตอนจบ และซีรีส์ที่สร้างจากหนังสือชื่อดัง และเกมชื่อดังขนาดนี้ จะออกมาเป็นอย่างไร เชิญพบกับบทความรีวิวกันได้

ก่อนอื่นคือในเวอร์ชั่นซีรีส์นั้น หยิบเอาเรื่องราวของฉบับเกมทุกภาคมาใส่ และยังใส่กลิ่นอายของนิยายต้นฉบับลงไปอีกด้วย ดังนั้นหากจะให้เทียบเนื้อเรื่องจะค่อนข้างลำบาก ผู้เขียนแนะนำว่าให้คิดซะว่าให้ดูซีรีส์แบบแยกเป็นเอกเทศน์ไปเลยไม่อย่างนั้นเวลาดูคุณอาจจะหยิบฉากนั้น ฉากนี้ไปเปรียบเทียบ หรือหาข้อมูลว่ามันเกี่ยวกันตรงไหน จะดูไม่สนุกซะเปล่า ๆ แนะนำว่าดูโดยคิดว่ามันเป็นซีรีส์เดี่ยวของมันไปเลย และมีตัวละครคุ้นหน้าคุ้นตาจากในเกม หรือหนังสือนิยายมามาเป็นพื้นฐานเท่านั้น

เนื้อเรื่อง

ตัวซีรีส์ในซีซั่นแรกนั้นจะเล่าเรื่องราวของ 3 ตัวละครหลัก ๆ แต่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันดี นั่นคือ Geralt , Ciri และ Yennefer แต่ด้วยการเล่าเรื่องแบบตัดสลับไปมาระหว่าง 3 ตัวละครใน 1 ตอน ก็อาจจะทำให้ผู้ชมหลายคนเกิดความงงไม่มากก็น้อย และที่สำคัญซีรีส์ยังเล่าเรื่องโดยใช้พื้นฐานทั้งจากหนังสือและเกมผสมกัน ยิ่งทำให้คนที่ไม่เคยเสพทั้งสองอย่างมาก่อน อาจจะต้องใช้เวลาในการเรียบเรียงเหตุการณ์นิดนึง

ตัวละคร Geralt นั้นในช่วงแรกจะเล่าถึงชีวิตร่อนเร่พเนจรของเขา คอยรับงานไล่ล่าปีศาจไปเรื่อย ใช้ชีวิตสมกับเป็นวิชเชอร์ และที่ต้องชมเลยจริง ๆ คือการสวมบทบาทเป็น Geralt ได้อย่างยอดเยี่ยมของนักแสดงอย่าง Henry Cavill เพราะไม่ว่าจะเป็นท่าทาง ลีลาการแอ็คชั่น หรือแม้กระทั่งเสียงนั้น แทบจะถอดแบบจาก Geralt ในเวอร์ชั่นเกม The Witcher 3 มาแบบทั้งดุ้น โดยเฉพาะเสียงพูดที่ทำเอานึกว่าเปิดเกมเล่นเองมากกว่าดูเวอร์ชั่นซีรีส์ซะอีก

การเล่าเรื่องของซีรีส์ในช่วงแรกอย่างที่บอกว่ามันไม่ค่อยจะเป็นมิตรกับผู้ชมหน้าใหม่สักเท่าไร นอกจากความเรื่อย ๆ ของการเล่าเรื่อง ที่อาจทำให้ผู้ชมหาวกันจนเมื่อยไปข้าง กว่าเนื้อเรื่องจะเริ่มเข้าที่เข้าทางและน่าติดตาม ก็อาจจะต้องใช้เวลาสัก 3 ตอน ก่อนที่ทุกตัวละครจะมีเส้นทางมาบรรจบกันในช่วงท้าย ถือว่าแม้จะมีปัญหาในด้านการเล่าเรื่องช่วงต้น (ซึ่งซีรีส์หลายเรื่องก็เป็นแบบนี้) แต่หากผ่านพ้นช่วงแรกไปได้ ก็อาจจะเพลินจนลืมเวลาไปเลยก็เป็นได้

การนำเสนอ

อย่างที่บอกว่าซีรีส์นั้นนำเสนอเรื่องราวผ่านสามตัวละคร ทำให้สถานที่หลัก ๆ ที่เราได้เห็นตัวละครแต่ละตัวผจญภัยไปนั้นแตกต่างกันไป Geralt จะต้องบุกป่าฝ่าดง รับมือกับปีศาจ มีบ้างที่ต้องไปพัวพันกับราชวงศ์ (แบบที่เราเห็นกันในเกม) ในขณะที่ Yennefer จะถูกเล่าเรื่องราวผ่านสถานที่ที่ชุบเลี้ยงเธอมาตั้งแต่แรกจนกระทั่งได้กลายเป็นจอมเวทและเผชิญหน้ากับเหตุการณ์อันตรายต่าง ๆ ซึ่งส่วนนี้มีการยืนยันแล้วว่าเป็นเรื่องราวที่สร้างขึ้นมาบนซีรีส์นี้โดยเฉพาะ ส่วน Ciri ต้องหนีตายจากการถูกอาณาจักรนิล์ฟการ์ดไล่ล่า

ซึ่งในส่วนของนักแสดงผู้รับบท Ciri อย่าง Freya Allan และ Anya Chalotra ที่รับบท Yennefer แม้จะไม่ค่อยเหมือนเกมมากนัก แต่ก็ไปเหมือนกับภาพจินตนาการที่แฟน ๆ นึกภาพเอาไว้ ทำให้ดูไม่ขัดใจนัก ที่ดูแฟน ๆ จะไม่พอใจมากที่สุดคือตัวละคร Triss Marigold ที่เปลี่ยนซะจนไม่เหลือเค้าเดิมของเกมหรือนิยายเลย ถือเป็นอีกจุดที่หลายคนผิดหวังกันพอสมควร

ในแต่ละสถานที่ที่ตัวละครทั้งสามไปเผชิญหน้า จะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง นั่นทำให้เราจะเห็นได้ถึงความหลากหลายของสถานที่ ซึ่งบ่งบอกให้เห็นถึงคุณภาพของตัวซีรีส์ แม้ว่าเบื้องหลังส่วนมากอาจจะเป็นกรีนสกรีนอย่างที่เราน่าจะเดากันได้ แต่ก็ยังถือว่าทำออกมาสวยงามและสมจริงเป็นอย่างยิ่ง รวมไปถึงส่วนของซีจีที่ใช้สร้างเหล่าศัตรูเหนือธรรมชาติ ที่ทำออกมาได้ดีมากเช่นกัน

ในส่วนของฉากแอ็คชั่นที่ต้องบอกว่ามาพร้อมกับความโหดร้ายและรุนแรงมาก นอกจากจะเลือดสาดแล้วยังขาขาดแขนขาดกระจายแบบไม่มีเซ็นเซอร์ใด ๆ นอกจากความโหดและความรุนแรงแล้ว ฉากแอ็คชั่นยังถูกถ่ายทอดออกมาได้ดุดิบมาก และการต่อสู้ของแต่ละคนก็ถอดแบบออกมาจากเกมได้ดี เช่น Geralt ก็จะเน้นใช้ดาบและคาถา Sign และบางทีก็มีการใช้ Potion เสริมพลัง ซึ่งตรงนี้ก็ยังต้องย้อนกลับไปชม Henry Cavill กันอีกรอบที่สามารถโชว์ลีลาแอ็คชั่นได้เหมือนกับในเกมแทบจะไร้ที่ติ

หรืออย่าง Yennefer ที่ใช้พลังแนวเวทมนต์ ไสยศาสตร์ แม้จะมีบ้างบางฉากที่ลอยอยู่บ้าง แต่โดยรวมก็ยังได้มาตรฐานซีรีส์ทุนสูงจาก Netflix เรียกได้ว่าปัญหาในการนำเสนอนั้นมีค่อนข้างน้อยมาก อย่างที่บอกว่ามันอาจจะต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจเนื้อเรื่องสักเล็กน้อย แต่คาดว่าถ้าตั้งใจดูก็น่าจะเข้าใจได้โดยไม่ยากนัก (เว้นแต่ถ้าใครดูแล้วรู้สึกไม่ถูกจริตจริง ๆ ก็คงต้องทำใจแล้วล่ะว่ามันอาจจะไม่ใช่ทางของคุณ)

ระบบเสียงสองภาษา

จริง ๆ แล้ว ซีรีส์เรื่องนี้มี 4 ภาษาคืออังกฤษต้นฉบับ ญี่ปุ่น ไทย และอังกฤษแบบคำบรรยาย แต่คาดว่าแฟน ๆ ชาวไทยของเราก็น่าจะดูอยู่สองแบบคือเสียงอังกฤษซับไทย หรือเสียงไทย สิ่งที่ต้องชื่นชมคือเสียงต้นฉบับนั้น แฟนเกมจะฟินอย่างมาก เพราะเสียงของ Henry Cavill นั้นเหมือนกับเวอร์ชั่นเกมมากที่สุดแล้ว ส่วนของตัวละครอื่นก็ไม่ใช่ปัญหา

มาที่สิ่งที่เราต้องโฟกัสกันจริง ๆ คือเสียงพากย์ไทย ต้องบอกว่าดีอยู่แล้ว เพราะฟังง่าย และถอดรูปประโยคต่าง ๆ ออกมาให้เข้าใจได้ง่ายที่สุด แต่ปัญหาคือเสียงพากย์ไทยของตัวละครเอกอย่าง Geralt นั้น ไม่ได้ทุ้มต่ำ เข้ม ๆ แบบเสียงต้นฉบับ เจ้าของเสียงพากย์ไทยคือคุณกิ๊บ-กริณ อักษรดี ซึ่งเคยให้เสียงพากย์ตัวละครที่ Henry Cavill เคยแสดงมาก่อนอย่าง Man of Steel ซึ่งเสียงของคุณกิ๊บนั้นไม่ได้เข้มทุ้มต่ำแบบเสียงต้นฉบับจากเกม ดังนั้นแม้ว่าพากย์ไทยจะฟังง่าย และพากย์ได้ดีเช่นกัน แต่ใครที่ต้องการเสียง Geralt แบบต้นฉบับจริง ๆ ก็อาจจะต้องทำใจเอาไว้หน่อย

นอกจากนั้นในซีรีส์ยังมีฉากที่เป็นการร้องเพลงบรรเลงอยู่หลายฉาก ซึ่งปกติแล้ว ในภาพยนตร์หรือซีรีส์ต่างประเทศนั้น หากมีการร้องเพลงแบบนี้ ต่อให้เป็นพากย์ไทยก็จะใช้เสียงพากย์ต้นฉบับแทน (ไม่นับพวกหนังดิสนีย์ที่มีการนำเพลงมาแปลเนื้อร้อง และปรับปรุงทำนองให้เป็นภาษาไทย) ซึ่ง The Witcher ก็ใช้วิธีเดียวกันกับหนังตระกูลดิสนีย์ แต่ติดตรงที่ดันแปลออกมาไม่ค่อยดีนัก และไม่ค่อยจะคล้องจองกันสักเท่าไร อาจจะเป็นเพราะความยากของภาษาที่ตัวซีรีส์ใช้ด้วย

การแปลผิดพลาดของ Netflix ไทย ได้รับการแก้ไขแล้ว

สิ่งที่กลายเป็นความผิดพลาดและถูกนำมาแซวกันอยู่ตลอดช่วงระยะเวลา 2-3 วันหลังจากที่ซีรีส์ออกอากาศ คือการแปลผิดพลาดของทาง Netflix ไทย ซึ่งมันทำให้การพากย์ไทยพลาดตามไปด้วย ในตอนแรกของซีรีส์นั้น Geralt โชว์ทักษะการต่อสู้สุดโหด ทำให้ได้รับฉายา Butcher of Blaviken ซึ่งถ้าแปลตรง ๆ คำว่า Butcher นั้นแปลว่าพ่อค้าเนื้อ

แต่อย่างที่เรารู้กันว่า Geralt นั้นไม่ใช่ตัวละครสายค้าขายอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าจะให้ถูกก็คือ Butcher ในที่นี้น่าจะหมายถึง จอมเชือด มากกว่า แต่ทาง Netflix ดันแปลผิดพลาดซะได้ ซึ่งทำให้พากย์ไทยพลาดตามแทบจะทุกตอน แต่ ณ ตอนนี้ล่าสุดที่เราได้เขียนบทความรีวิวนี้ ตัวซีรีส์ก็ได้รับการแก้ไขซับไตเติลที่ผิดพลาดไปแล้ว แต่สำหรับเสียงพากย์ภาษาไทยยังคงเป็นคำว่าพ่อค้าเนื้อ ซึ่งคาดว่าจะได้รับการแก้ไขในเร็ว ๆ นี้เช่นกัน

แต่ที่น่าแปลกใจก็คือในตอนที่ 4 นั้น มีการกล่าวถึงฉายานี้เช่นกัน แต่พากย์ไทยกลับพากย์ถูกว่าเป็นนักเชือดแห่งบลาวิเคนซะอย่างนั้น ในขณะที่ซับไทยแปลผิดอยู่ดี เลยเกิดคำถามว่าเพราะอะไรกันแน่ หรืออาจจะไม่ได้เช็คให้ถูกต้องก่อนปล่อยซีรีส์ออกอากาศนั่นเอง ก็หวังว่าทาง Netflix จะนำไปแก้ไขในอนาคตไม่ให้เกิดความผิดพลาดแบบนี้ขึ้นอีก

The Witcher อาจเป็นซีรีส์ที่ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจกับมันสักเล็กน้อยก่อนที่จะเพลิดเพลิน และดำดิ่งไปสกับโลกของมันได้อย่างเพลิดเพลิน แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าบางจุดของซีรีส์ก็ยังมีรอยแผลให้เห็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ถ้ามองว่านี่คือจุดเริ่มต้นของการนำเอานิยาย (หรือเกม) มาดัดแปลงเป็นซีรีส์คนแสดงจริง The Witcher จัดอยู่ในระดับที่ใช้คำว่า คุณภาพ ได้อย่างไม่น่าเขินอายแต่อย่างใด

SHARE

Aisoon Srikum

Related posts

Read More
Back to top