BY Next
11 Jun 20 10:23 pm

Review : The Last of Us Part II

52 Views

7 ปีที่เรารอคอย การสานต่อที่คู่ควรได้มาถึงแล้วกับสุดยอดเกมส่งท้ายเครื่อง PlayStation 4 ที่คู่ควร คุ้มค่าการรอคอยอย่าง The Last of Us Part II

YouTube video

Story ที่บอกได้แค่ว่านี่คือเกมที่คุณต้องสัมผัส

Spoil Alert เนื้อหาหลังจากนี้เปิดเผยเนื้อเรื่องช่วงต้นของตัวเกม

4 ปี หลังจากเหตุการณ์ใน The Last of Us ภาคแรก เอลลี่ และ โจเอล เดินทางกลับมายังเมือง แจ็กสัน ศูนย์รวมของเหล่าผู้รอดชีวิตที่มี ทอมมี่ น้องชายของ โจเอล เป็นผู้ดูแล พวกเขาช่วยกันพัฒนา ซ่อมแซม และขยายพื้นที่จนกลายเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่มีประชากรนับพัน พร้อมทั้งระบบสาธารนูปโภคครบครัน ทำให้ แจ็กสัน กลายเป็นบ้านใหม่ของทุกคนรวมทั้ง โจเอล กับ เอลลี่  แต่แล้ววันหนึ่ง ในขณะที่ เอลลี่ กำลังทำหน้าที่ลาดตระเวนพื้นที่รอบ ๆ แจ็กสัน เธอได้พบกับกลุ่มคนลึกลับไม่ทราบฝ่าย พวกเขากระทำการบางอย่างกับ เอลลี่ ที่เลวร้ายจนไม่อาจให้อภัยได้ ด้วยความแค้นสุมเต็มหัวใจ เอลลี่ จึงออกเดินทางเพื่อตามคิดบัญชีกับเหล่าคนที่บังอาจทำลายชีวิตของเธอ

เรียกว่าเป็นการพลิกบรรยากาศจากภาคแรกไปเลย จากการเดินทางที่เต็มไปด้วยความรัก ความหวัง มาคราวนี้มันกลับกลายเป็นความเกลียดชังที่คุกรุ่นอยู่เต็มอก ซึ่งแน่นอนว่าเราในฐานะผู้เล่นก็จะรู้สึกแบบเดียวกันกับที่ตัวละครของเรารู้สึกด้วย 

นี่คือเทคนิคการเขียนเรื่องอันเป็นเอกลักษณ์ของทีม Naughty Dog เรื่องราวที่เราพบจะไม่ใช่อะไรที่ลึกลับ ซับซ้อน มันจะเป็นแค่เรื่องพื้น ๆ ง่าย ๆ แต่มันทำให้ตัวละครต้องพบกับความยุ่งยาก ทำให้พวกเขาต้องเผชิญกับผลลัพธ์ ทำให้เกิดการพัฒนาของตัวละครอย่างมีเหตุมีผล ด้วยความเรียบง่ายแต่ก่อให้เกิดดราม่ามากมายตามออกมา ช่วยให้ผู้เล่นรู้สึกเข้าถึงได้และเข้าใจความรู้สึกของตัวละคร ซึ่งไม่ได้หมายถึงเฉพาะกับ เอลลี่ แต่มันคือทุกตัวละครที่อยู่ในเรื่องนี้ พาให้เราอินไปกับเกมอย่างมาก      

ผู้เขียนเองก็อยากพร่ำพรรณนาความประทับใจให้มากกว่านี้ แต่มันจะเป็นการยากที่จะหลบเลี่ยงไม่ให้เปิดเผยเรื่องราว ผมจึงขอสรุปให้สั้น ๆ ว่า นี่คือเกมที่คุณต้องได้สัมผัส The Last of Us Part 2 คืออีกหนึ่งเกมที่แสดงให้โลกเห็นว่า วิดีโอเกมสามารถเล่าเรื่องได้ยอดเยี่ยมขนาดไหน และมีแต่สื่อวิดีโอเกมเท่านั้นที่จะทำได้ระดับนี้

The Last of Us Part II

Presentation กับ รายละเอียดที่อัดแน่น

ถ้าเราลองหยุดดูรายละเอียดที่ทีมสร้างใส่เข้ามา เราจะเห็นถึงความประณีตอย่างที่สุด และนั่นคือสิ่งที่เราจะได้ประทับใจกันอีกครั้งใน The Last of Us Part 2 นี่คือเกมที่ทำให้ฉากบ้านเมืองรกร้าง หดหู่ อัดแน่นไปด้วยความสวยงามที่สะกดให้ผู้เล่นหยุดอยู่กับที่ได้เลย จนถึงขนาดที่ผู้เขียนแอบคิดว่า ในจุดที่เราแค่เดินผ่านไปเฉย ๆ ทางทีมสร้างต้องใช้เวลานานขนาดไหนในการบรรจงใส่รายละเอียดที่แน่นขนาดนี้ (หรือบางทีก็ไม่ได้สนใจ เพราะกำลังเดือดกับการพยายามไม่กลับไปเริ่ม Checkpoint) 

รายละเอียด คือสิ่งที่อัดแน่นอยู่เสมอในเกมของ Naughty Dog แม้จะเป็นฉากที่เราใช้เวลาผ่านไปแค่ไม่กี่วินาที

และก่อนจะไปถึงส่วนอื่น เราขอพูดถึงการแปลภาษาไทยของเกมนี้ก่อน ซึ่งต้องยอมรับเลยว่าคุณภาพการแปลอยู่ในขั้นยอดเยี่ยม ส่วนตัวผู้เขียนค่อนข้างกังวลกับความจำกัดของภาษาไทยอยู่พอตัว เพราะมันอาจจะสื่อความได้ไม่ตรงกับภาษาอังกฤษเท่าที่ควร แต่ลวดลายการแปล การตีความสำนวนให้อยู่ในบริบทของภาษาไทย เรียกได้ว่าระดับเดียวกับภาพยนตร์ที่ฉายโรงบ้านเราเลย แม้แต่ไฟล์ข้อมูลที่มีให้อ่านกว่าร้อยชิ้น ก็ได้รับการแปลอย่างสมบูรณ์ ถึงบางจังหวะอาจจะมีการใช้คำที่สื่อความได้ไม่ตรงกับอารมณ์ แต่ความหมายหลัก ๆ ที่สำคัญก็ไม่มีจุดผิด ดังนั้นถ้าใครภาษาอังกฤษไม่แข็งแรง ก็เตรียมเสพภาคนี้อย่างเต็มอรรถรส  

อีกหนึ่งสไตล์การสร้างเกมของทีม Naughty Dog นั่นคือการหยิบเอาระบบ, การออกแบบ จากเกมก่อนหน้ามาปรับปรุงต่อยอดในเกมใหม่ อย่างเช่น The Last of Us ภาคแรก ก็นำระบบบางส่วน จากเกม Uncharted 1-3 มาประยุกต์ใช้ ส่วน Uncharted 4 เราก็ได้เห็นการออกแบบที่คุ้นเคยบางส่วน จาก The Last of Us และใน The Last of Us Part 2 ก็เป็นลูกผสมจากทุกเกมที่ผ่านมา

ถ้าหากคุณยังจำฉากเปิดขนาดใหญ่ใน Uncharted 4 ได้ นั่นคือหนึ่งในช่วงเวลาที่คุณจะได้สัมผัสมันอีกครั้งใน The Last of Us Part 2 และก็ตามสไตล์ของเกม Naughty Dog ในพื้นที่พิเศษเหล่านี้ คุณอาจจะได้เจอกับฉากพิเศษ ยิ่งถ้าเป็นจังหวะที่เรามากับเพื่อนร่วมทาง เราจะได้เห็นฉากของการ ‘Bonding’ การสานสัมพันธ์ไมตรีผ่านบทสนทนาพิเศษ หรืออาจจะได้เห็นคัทซีนใหม่เฉพาะของฉากนั้นเลยทีเดียว หรือต่อให้เรามาคนเดียว ในบางครั้งคุณอาจจะได้ฟังเพลงพิเศษจาก เอลลี่ ที่ช่วยสร้างบรรยากาศได้ดีมาก (ตอนนี้ เอลลี่ เล่นกีต้าร์เป็นแล้ว และเธอมักจะหาจังหวะซ้อมมือถ้ามีโอกาส)

แต่การสำรวจไม่ได้ให้เราเพียงเท่านี้ คุณจะได้ค้นหาทรัพยากร หาของมีค่า ที่จำเป็นต่อการเอาตัวรอดตามสไตล์ของเกม The Last of Us และมันจะสำคัญมาก เพราะในภาคนี้พวกอาวุธปืนใหม่ ๆ ไม่ได้มีให้เราเก็บตามทางเสมอไป เราต้องได้จากการสำรวจจุดน่าสนใจเหล่านี้ รวมถึงอุปกรณ์บางชิ้นด้วย อย่างเช่น ซองปืนพกที่ 2, สายสะพายปืนยาวที่ 2 จะไม่มีให้เราอัพเกรดด้วยตัวเองเหมือนภาคแรก เราต้องได้มาจากการสำรวจ ผู้เขียนเองไม่มั่นใจว่าถ้าเราพลาดอาวุธหรืออุปกรณ์อะไรไป เราจะได้มาตามเนื้อเรื่องเหมือนภาคแรกหรือไม่ เพราะหลังจากที่ผู้เขียนได้เจอปืนใหม่กระบอกแรกจากการสำรวจเสริม ผู้เขียนก็ไม่ยอมพลาดอะไรแบบนี้เลยจนจบเกม 

แต่ก็ไม่ใช่ทุกฉากที่จะเป็นแบบเปิดกว้างอิสระ ส่วนใหญ่มันก็ยังเป็นเกมแบบเส้นตรงเหมือน The Last of Us ภาคแรก แต่มันจะมีทางแยก ห้องลับ หรือตู้เซฟ ที่ให้เราหาทางเปิดหรือผ่านเข้าไปเก็บไอเทม ลืมการคราฟมีดเล็กเพื่อเก็บไว้งัดประตูได้เลย ในภาคนี้จะอาศัยการสำรวจอย่างเดียว จะหาทางมุดเข้าไปในห้องปิดตายได้อย่างไร จะหารหัสตู้เซฟจากที่ไหน นี่คือสไตล์หลักของภาคนี้ซึ่งผู้เขียนชอบกว่าของเดิมมาก

และมันก็โยงมาถึงการอัพเกรดของภาคนี้ที่ลึกกว่าเดิมแต่เข้าถึงง่ายขึ้น ทรัพยากรที่ใช้ในอัพเกรดยังเป็นรูปแบบเดิม นั่นคือ Scraps เศษเหล็ก ที่ใช้ในการอัพเกรดอาวุธ และ Supplements เม็ดอาหารเสริม ที่ใช้ในการอัพเกรดตัวละคร  การอัพเกรดอาวุธจะไม่จำเป็นต้องเก็บกล่องเครื่องมือที่มีระดับเลเวลเหมือนภาคแรก เราสามารถใส่ทุกอย่างที่ต้องการทันที ถ้าเราเก็บ Scraps มามากพอ (ซึ่งผู้เขียนแนะนำให้อัพเกรดความนิ่งเป็นอย่างแรก เพราะในเกมนี้คุณจะไม่อยากยิงพลาดแม้แต่นัดเดียว) แต่การอัพเกรดตัวละครจะไม่สามารถเลือกได้ทันที ในภาคนี้จะมีการแบ่งสายอัพเกรดเป็นหมวดหมู่ อย่างเช่น สายเอาตัวรอด สายสร้างของ สายลอบเร้น และสายความแม่น ซึ่งคุณจะไม่เห็นสายอัพเกรดพวกนี้แต่แรก ในช่วงเริ่มเกมเราจะมีแค่สายเดียว นั่นคือสายเอาตัวรอด แต่สายอื่น ๆ จะได้จากการพบหนังสือนิตยาสารที่ซ่อนอยู่ตามฉาก เมื่อเราพบหนังสือเล่มที่กำหนด เราถึงจะอัพเกรดสายที่เราต้องการได้ รวม ๆ แล้ว เรามีทางเลือกในการอัพเกรดเยอะกว่าภาคแรกประมาณ 3 เท่าตัว หากใครที่รู้สึกว่าทำไมมันถึงมี Supplements ให้เราเก็บเยอะกว่าภาคแรกอย่างผิดปกติ นั่นก็เพราะเรามีทางเลือกให้อัพเกรดเยอะมาก

ดังนั้นคุณจะไม่อยากพลาดการสำรวจเลยแม้แต่น้อย เพราะนอกจากคุณจะได้เห็นบทสนทนาหรือฉากใหม่ ๆ เราก็ยิ่งเก่งขึ้นจากบรรดาทรัพยากรที่ได้มา แถมฉากของเกมก็สวยงามน่าเดินเล่นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว นี่คือเกมที่ทำให้เราเต็มอิ่มกับการสำรวจจริง ๆ และคุณจะได้ใช้เวลากับมันนานสมใจ เพราะกว่าจะจบเกมนี้ได้ก็ต้องใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 30 ชั่วโมง เรียกว่ายาวกว่าภาคแรกเท่าตัวกันเลย เพราะงั้นถ้าใครไม่มีเวลาเล่นเกมเยอะ อาจจะต้องทำใจกับความยาวระดับนึง แต่ผมรับรองว่ามันคุ้มกับเวลาที่เล่นไปแน่นอน

ในตอนแรก ผู้เขียนเองก็รู้สึกว่านี่คือเกมที่มีคอนเท้นต์จำกัดน่าดู เพราะทาง Naughty Dog ก็ได้ออกมายืนยันแล้วว่า เกมนี้จะไม่มีโหมดมัลติเพลเยอร์ เพื่อการสร้างโหมดเนื้อเรื่องที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่พวกเขาเคยสร้างกันมา หลายคนที่ลุยโหมด Factions อย่างดุเดือดในภาคที่แล้วคงจะผิดหวังกันพอตัว แต่ด้วยขนาดและคุณภาพของโหมดเนื้อเรื่องที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้ ผมว่ามันก็คุ้มแล้วกับทุกบาททุกสตางค์ แม้ในอนาคตจะมี DLC เสริมหรือไม่ก็ตาม

Gameplay – หลากหลาย ลื่นไหล และท้าทายกว่าเดิม

Spoil Alert เนื้อหาหลังจากนี้เปิดเผยระบบการเล่นของตัวเกม

อย่างที่ผู้เขียนเคยทำการ Preview ไปก่อนหน้า ถ้าใครเคยเล่น The Last of Us ภาคแรกมาก่อนคุณจะเล่นภาคนี้ได้ทันที หลักการเล่น การเอาตัวรอด การต่อสู้ การลอบเร้น อยู่ในกฏเดิมแทบทุกอย่าง แต่เขาทำให้มันหลากหลายขึ้น ลื่นไหลมากขึ้นและท้าทายมากกว่าเดิม เอลลี่ จะเป็นตัวละครที่ค่อนข้างพริ้วไหว ทำให้เธอมีความคล่องตัวกว่า โจเอล ในภาคที่แล้ว เธอสามารถหลบหลีก หมอบคลาน โหนเชือก ที่ช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับเกมการเล่น 

การหลบจะทำด้วยการกดปุ่ม ‘วิ่ง’ แค่ครั้งเดียว ระบบจะคล้ายกับใน Resident Evil 3 ที่เราสามารถหลบได้ตลอดเวลา ไม่ต้องรอกด Quick Time Event แต่เราจะไม่มีอาการเหนื่อยหอบ เราสามารถกดหลบได้อย่างต่อเนื่อง เว้นแต่จะถูกศัตรูรุมโจมตีเพราะเราไม่สามารถหลบการโจมตีจากศัตรูมากกว่า 1 ตัว แต่คุณจะสัมผัสได้ว่ามันมีความคล้ายคลึงกับการกด Counter ในเกม Uncharted 4 เพราะในการหลบที่สำเร็จ จะเป็นการเปิดช่องว่างให้เราโจมตีสวน และเราจะต้องทำแบบนั้นระหว่างการซัดกันในระยะประชิด ถ้าเป็นในภาคที่แล้วเราแค่กดปุ่มตีย้ำ ๆ ก็ชนะศัตรูได้(ถ้าไม่มีตัวอื่นมาตบหลัง) แต่ภาคนี้จะมีบางจังหวะที่ศัตรูโจมตีสวน ซึ่งในจังหวะนั้นเราต้องกดหลบถึงจะเกิดช่องว่างให้เราตีต่อ คล้ายกับการต่อยสวนของ เนธาน เดรค ใน Uncharted แต่มันจะยากกว่าเพราะจังหวะสวนอาจจะไม่ได้มาให้เราเห็นชัด ๆ และในบางครั้ง เราจะต้องกดหลบเป็นชุด เพราะศัตรูบางชนิดจะหวดใส่เราเป็นคอมโบ ก่อนที่จะเปิดช่องว่างให้เราสวนได้ ทำให้การต่อสู้ระยะประชิดยิ่งท้าทายและดุเดือด

การหมอบคลานก็ทำให้การลอบเร้นมีทางเลือกเยอะขึ้น เอลลี่ สามารถหมอบเนียนไปกับหญ้าต่ำ ลอดตัวผ่านช่องเล็ก ๆ หรือมุดเข้าไปหลบใต้สิ่งของต่าง ๆ คุณสามารถสวมวิญญาณ Big Boss หรือ Solid Snake หมอบคลานไปตามพื้น แล้วใช้ธนูหรือปืนเก็บเสียงสอยหัวศัตรูที่ผ่านมา (ถ้าเราหมอบคลานมาก ๆ เราจะเห็นข้อศอกของ เอลลี่ เริ่มถลอกเป็นแผลยาวขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยครับ ซี้ดด…) เราสามารถมุดผ่านใต้ท้องรถเพื่อแอบไปโผล่ข้างหลังศัตรู หรือต่อให้ไม่มีอะไรบังตัว การหมอบก็ช่วยลดระดับการมองเห็นของศัตรูได้ระดับนึง รวม ๆ แล้ว มันคืออารมณ์ของ Metal Gear Solid เลยทีเดียว

แต่ศัตรูเองก็ดุกว่าเดิมมาก ในช่วงที่เรายังไม่ถูกเจอตัว พวกศัตรูจะเดินสำรวจฉากเป็นแพทเทิร์นเหมือนกับเกมทั่วไป แต่เมื่อไหร่ที่คุณถูกเจอตัวแล้วหนีรอดไปได้ คราวนี้พวกมันจะเริ่มโชว์ความดุที่ยิ่งกว่าในภาคแรก พวกมันจะเริ่มจากการค้นหาผู้เล่นในจุดล่าสุดที่เจอ มีการกระจายกำลังอย่างรอบคอบ จากนั้นพวกมันจะเริ่มสำรวจไปตามจุดที่พวกมันไม่เคยไป ทำให้ยากต่อการคาดเดาทิศทาง ศัตรูบางตัวอาจจะเริ่มปีนขึ้นหลังคา หามุมสูงเพื่อกวาดสายตาหาผู้เล่น และที่ยากกว่านั้น ในภาคนี้เราจะได้เจอสุนัขดมกลิ่นที่ศัตรูนำมาตามล่าผู้เล่น ถ้าสุนัขเดินผ่านไปเจอเส้นทางที่เราเคยเดิน สุนัขจะจับกลิ่นได้และมันจะเริ่มเดินตามรอยคุณทันที ทำให้เราต้องคอยเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลาและหาทางเบี่ยงเบนความสนใจ

ส่วนการต่อสู้กับผู้ติดเชื้อก็ได้รับการเสริมความยากด้วยระบบของการหลบที่เพิ่มมาใหม่ ทำให้การเข้าไปบู๊ใกล้ ๆ อาจจะอันตรายกว่าที่คิด และเราไม่สามารถวิ่งหนีผู้ติดเชื้อได้ตลอด ถ้าเราวิ่งเป็นทางตรงอย่างเดียว เราจะถูกไล่ทันและโดนโจมตี แม้มันจะไม่เจ็บมาก แต่มันจะเป็นการเปิดช่องให้ศัตรูแบบดอกเดียวตายอย่าง Clicker มีโอกาสเข้าถึงตัว ยิ่งในภาคนี้ยังมีผู้ติดเชื้อเวอร์ชั่นใหม่ที่เรายังเล่าให้ฟังไม่ได้ บอกได้แค่ว่ามันเป็นเหมือน Clicker อีกเวอร์ชั่น ที่เรายิงใกล้ ๆ ไม่ได้ ถ้าไม่อยากจบชีวิตเหมือนเหล่า Colonial Marines ในภาพยนตร์เรื่อง Aliens

แม้ว่าส่วนตัวผู้เขียนจะเป็นคนที่ชอบความท้าทายในเกมระดับหนึ่ง แต่ต้องบอกตามตรงเลยว่าโหมดยากสุดที่เกมมีในตอนนี้ ก็โหดจนแทบไม่สนุกเลย (ในภาษาอังกฤษจะเรียกว่าระดับ ‘Survivor’ แต่ในภาษาไทย เขาเรียกว่าระดับ ‘โหด’ ซึ่งก็สมชื่อแท้) ด้วยระบบที่กดดันมากขึ้น AI ศัตรูที่โหดกว่าเดิม ทำให้ผู้เขียนถูกถีบกลับไปเริ่ม Checkpoint หลายรอบซะจนหัวเดือด ขนาดว่าเคยเล่นจบมาแล้วรอบนึงแท้ ๆ นี่ขนาดยังไม่ใช่ระดับ Grounded ที่จะปลดมาให้เล่นในวันที่เกมวางจำหน่าย แถมยังมีฟีเจอร์พิเศษ Permadeath ที่เราตายเมื่อไหร่ก็จบทั้งเกม คล้ายกับระดับ Ultra-Nightmare ของเกม Doom แต่การเดินทาง 30 ชั่วโมง ของเกมนี้แบบที่เราต้องไม่ตายเลยซักครั้ง ดูจะเป็นอะไรที่โหดร้ายมาก แต่ก็คงถูกใจสายโหดแน่นอน

แต่อย่าได้กลัวจนไม่กล้าเล่นเกมนี้ จริงอยู่ว่าระบบหลัก ๆ จะถูกสร้างมาเพื่อให้ผู้เล่นต้องเผชิญความท้าทาย เพราะมันคือหัวใจหลักของ The Last of Us ที่เป็นการเอาตัวรอด แต่ว่าเราสามารถปรับความยากได้หลากหลายมาก แค่ตัวเลือกความยากก่อนเริ่มเกมก็มีหลายระดับให้เราเลือก และใน Option เราสามารถปรับแต่งระบบของเกมโดยตรง อย่างเช่น ลดความแม่นของศัตรู, เพิ่มจังหวะในการกดหลบ, ศัตรูไม่ตีโอบ, เพื่อนร่วมทางไม่โดนจับตัว โดยปกติลูกเล่นนี้จะถูกปิดไว้ทั้งหมด แต่ถ้าใครอยากได้ประสบการณ์แบบเฉพาะก็มีตัวเลือกให้เราแต่งได้ ดังนั้นมันจะเป็นเกมที่เข้าถึงผู้เล่นทุกคน ถ้าใครอยากได้เกมง่าย ๆ เล่นเอาเนื้อเรื่อง คุณก็ปรับให้มันง่ายเต็มที่ไปเลย หรือถ้าคุณอยากได้เกมโหด ๆ ระทึกทุกวินาที มันก็ยากได้จนสมใจ หรืออยากจะเล่นอยู่ในระดับกลาง ๆ พอประมาณก็ยังได้ (ผู้เขียนขอแนะนำว่าระดับ Hard คือประสบการณ์ที่กำลังพอดี นี่คือระดับที่ผมเล่นจบครั้งแรก ซึ่งมันสนุกมาก ๆ ครับ)

ส่วนการโหนเชือกหรือการเล่นกับเชือก ก็จะเป็นอีกหนึ่งรูปแบบของการผ่านฉากและการแก้ปริศนา เราต้องเอาเชือกพาดผ่านตรงไหนที่จะเป็นจุดยึดให้เราใช้ปีนขึ้นอีกฝั่ง หรือเราจะเอาสายไฟต่อยาวพาดผ่านฉากอย่างไรถึงจะเอาไปต่อกับเต้าเสียบได้ และในการเข้าไปเก็บไอเทมที่อยู่หลังประตูล็อค ในบางจุดเราต้องผ่านเข้าไปด้วยการหาทางพาดเชือกแล้วปีนเข้าจากอีกฝั่ง เสียดายที่เราไม่ค่อยได้เห็นดีไซน์แบบนี้เท่าไหร่ เพราะมันดูสร้างสรรค์ใช้ได้เลย

สำหรับข้อเสียของเกมการเล่นจะมีอยู่จุดเดียวที่ผู้เขียนแอบเซ็งนิด ๆ นั่นคือเพื่อนร่วมทางของเราจะมีอาการน่าปวดหัวอยู่บ้าง บางทีเราจะย่องถอยหลังหลบ แต่ดันติดเพื่อนที่ไม่ยอมหลีกทางให้ หรือในระหว่างการต่อสู้ บางทีก็ไม่ช่วยอะไรเราเลยแม้จะวิ่งชนกับศัตรูแล้ว การที่เพื่อนขวางทางอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ผู้สร้างตั้งใจให้เป็น แต่ในเรื่องของการช่วยเหลือที่น้อยลง จริง ๆ แล้วนี่คือระดับความยากที่เกมตั้งใจให้เป็นแบบนั้น การเลือกความยากระดับสูงจะไม่ใช่แค่เพิ่มความโหดของศัตรู, ลดจำนวนกระสุนและไอเทมที่มีให้เก็บ แต่มันยังลดการช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมทางเราด้วย ซึ่งผู้เขียนก็ยอมรับว่าเป็นคนเลือกโหมดยากสุดไปเอง แต่ถึงจะเป็นโหมดนี้ ก็ไม่น่าถึงขั้นเดินผ่านกันจัง ๆ แล้วยังไม่ช่วยอะไร แต่ถ้าเราเล่นในระดับความยาก Hard ลงไป คุณจะเห็นถึงความ ‘For team’ ของเพื่อนเราจริง ๆ

Performance – รีดทุกหยดสมกับที่เป็น Exclusive PlayStation

เรียกว่าเป็นความ ‘เดจาวู’ ระดับนึงเลย กับการที่ The Last of Us ทั้ง 2 ภาคออกวางจำหน่ายในช่วงปลายยุคของเครื่อง PlayStation ในภาคแรก The Last of Us ก็รีดพลังของเครื่อง PlayStation 3 ซะจนหยดสุดท้าย ที่แม้จะเป็นฮาร์ทแวร์เก่าเต็มที แต่ก็ยังสร้างกราฟิกออกมาได้ดีไม่แพ้เกมในยุคเดียวกันเลย มาในภาค 2 พวกเราก็กลับมาอยู่ในสถานการณ์เดิมอีกครั้ง แม้ว่า PlayStation 4 จะมีอายุร่วม 7 ปี ส่วน PlayStation 5 ก็กำลังจะเปิดตัวในอีกไม่กี่วันข้างหน้า แต่คุณภาพกราฟิกของเกมนี้ ก็น่าจะยังทำให้หลายคนมองตาไม่กระพริบ

เอนจิ้นกราฟิกเฉพาะของ Naughty Dog ที่เคยสร้างความประทับใจไปแล้วใน Uncharted 4 กลับมาอวดโฉมกันอีกครั้ง ด้วยรายละเอียดฉากที่อัดแน่นอยู่แล้ว บวกเข้ากับการให้แสงเงาแบบ Indirect Lightning ที่เป็นการสร้างแสงสะท้อนจากจุดกำเนิดแสงเดียวให้สว่างไปรอบ ๆ ฉาก ทำให้ภาพที่ออกมาดูสมจริงอย่างไม่น่าเชื่อ คล้ายกับการเรนเดอร์ด้วยเทคนิค Ray Tracing เลยทีเดียว ซึ่งผู้เขียนเองก็พอเข้าใจว่าภาพที่เห็นยังเป็นแสงแบบสำเร็จรูปในหลายจุด ไม่ใช่การเรนเดอร์แบบ Realtime แต่ผลลัพธ์ที่ได้ คงไม่มีใครปฏิเสธว่ามันดูดีมาก ๆ

และไม่ใช่แค่แสงกับพื้นผิว บรรดาเอฟเฟคและฟิสิกส์ก็ถูกพัฒนาขึ้นไปอีก กระจกหน้าต่างจะมีเอฟเฟคแตกอย่างสวยงามที่พ่วงกับเอฟเฟค Object Motion-Blur หมอกควัน, ไฟ Particle Effect ทั้งหลายก็ดูดีมาก ๆ  แถมเราจะได้เห็นร่างของผู้เคราะห์ร้าย ที่มีรายละเอียดจากการถูกโจมตีหลายรูปแบบ จนถึงขั้นที่เกิดอาการ ‘ตัวแตก’ ที่ทำละเอียดอย่างคาดไม่ถึง (และก็นึกไม่ถึงด้วยว่าจะโหดขนาดนี้)

ด้วยความที่เป็นเกม Exclusive ของเครื่อง PlayStation เราเลยยังได้เห็นประสิทธิภาพเกมตามมาตรฐาน นั่นคือมันจะเป็นเกมที่เนี๊ยบ ไม่มีปัญหาจุกจิก เล่นได้ดีตั้งแต่ช่วงแรก แม้ว่านี่จะเป็นเกมเวอร์ชั่นที่ยังไม่ออกวางจำหน่าย ผู้เขียนก็แทบไม่เจอปัญหาอะไรเลย ที่จะนับว่าเป็นปัญหาจริง ๆ ก็มีครั้งนึงที่หน้าจอ Hud บอกกระสุนกับพลังชีวิตหายไป ต้องออกเกมแล้วโหลดเซฟใหม่ถึงจะหาย แต่ผมก็ได้เจอแค่ครั้งเดียว และหลังจากที่เกมถูกปล่อยให้เล่นแล้วก็จะได้รับการแพทช์ให้ดียิ่งขึ้นกว่านี้อยู่แล้ว

สรุปคะแนนรีวิว The Last of Us II

Story  10/10

Presentation 10/10

Gameplay 9.5/10

Performance 9.5/10  

GamingDose Score 9.8/10 – พลาดไม่ได้

Nantahwut Indarachalerm

เน็กซ์ - Chief Video Editor

Related posts

Read More
Back to top